อืม!!ดูหนังออนไลน์-ซีรีส์เถื่อน EP.2 เสือกระดาษปราบลิขสิทธิ์ ชี้ชัดโฆษณาหนุนผิดไหม!?



ในตอนที่แล้ว เว็บหนัง-ซีรีย์เถื่อน EP.1 ดูฟรี ดูดเพลิน สูญหมื่นล้าน ฆ่า 'คนเบื้องหลัง' ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดเผยเรื่องราวของการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเว็บหนังและซีรีย์ที่เปิดให้คนทั่วไปได้ดูฟรี แต่กลับทำลายผู้ประกอบการและคนเบื้องหลัง ในตอนนี้ จะมาถามหาคำตอบว่า แล้วคนที่มาลงโฆษณาเว็บไซต์เหล่านี้ถือว่ามีส่วนสนับสนุนการกระทำผิดด้วยการ "ละเมิดลิขสิทธิ์" หรือไม่ มีกฎหมายตัวไหนสามารถเอาผิดได้บ้าง...อยากรู้คำตอบ เริ่มอ่านตั้งแต่บรรทัดนี้
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ มีกว่า 180 เว็บไซต์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำได้แค่ 'เชิงป้องกัน'
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงก็คือ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" โดย นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ อธิบายการทำงานของรัฐว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการทำงานเชิงป้องกัน โดยที่ผ่านมามีการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดโฆษณาต่างๆ มีการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานหรือตำรวจที่เข้าไปจับ พยายามจะสร้างความตระหนักว่า "คนไทย" ไม่ควรจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
“เราจะรณรงค์ว่า "ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอมนะ" หรือวลีคำว่า "โหลดเล่นๆ ก็เป็นเรื่อง" ก็คืออีกแคมเปญหนึ่งที่ทำในช่วงที่ผ่านๆ มา ให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ทราบถึงปัญหา และผลเสียของการละเมิดลิขสิทธิ์ และอยากให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง ในการบริโภคสื่อออนไลน์ และสนับสนุนสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์”
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
ส่วนการปราบปรามเราจะประสานกับเจ้าของสิทธิ์ เจ้าของสิทธิ์ก็จะมาร้องเรียนว่าพบของเขาถูกละเมิด หรือของต่างประเทศ เขาก็จะมีตัวแทนอยู่เมืองไทย ตัวแทนเขาก็จะมีหน้าที่คอยสอดส่องดูแล ว่ามีการละเมิดงานที่เขาเป็นตัวแทนอยู่มากน้อยแค่ไหน ที่ไหนบ้าง บางครั้งเขาก็ไปร้องโดยตรงกับตำรวจ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ​ (DSI) หรือ ร้องมาที่กรมฯ เราก็จะประสานตำรวจให้ หรือในเว็บเพจที่เรามีคนคอยดูแล
จริงๆ เว็บที่คนเข้าเยอะมันก็ไม่รู้กันอย่างไร แต่มันก็รู้กันอยู่ว่าที่ไหนบ้างที่เล่ากันปากต่อปาก หรือเพื่อนฝูง เด็กสมัยนี้ถ้าถามว่าดูหนังฟรีได้ตรงไหน เด็กจะตอบได้ หรือดูละคร ซีรีส์ มันก็มีทั้งฟรีแบบถูกกฎหมาย หรือฟรีแบบไม่ถูกกฎหมาย เช่น เว็บ Netflix ที่ถูกกฎหมาย จ่ายค่าธรรมเนียมนิดหน่อยก็ดูได้ทั้งหมดในนั้นทั้งหนังทั้งซีรีย์ ผู้ให้บริการก็คิดราคาไม่แพง
ใช้ "กุศโลบาย" กระตุกเตือน "จิตสำนึก"
เมื่อมีเว็บผิดกฎหมาย กรมฯ ทำอย่างไรบ้าง นางนันทวัลย์ กล่าวว่า หลังจากที่มีกระแสในเฟซบุ๊ก ใช้คำว่า "ไม่น่ารักเลย" ที่เราไปคอมเม้นต์เตือนว่าอย่าละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น นอกจากนี้ผลพลอยได้คือ พอคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเข้าถึงกรมฯ ได้ง่าย ก็มีการแจ้งเบาะแสเพิ่มขึ้นเยอะมาก รายวันไม่รู้เหมือนกันว่ากี่เบาะแส แต่ถ้าเป็นรายเดือน สมมติว่าเป็นเมื่อก่อน คนก็จะไม่ค่อยรู้จักกรมฯ ไม่ได้คิดจะแจ้ง ขณะนี้พอคุยๆ กันไปก็มีการบอกแล้วประมาน 70-80 เบาะแส และก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเขาแจ้งเบาะแสมา อย่างแรกเราอาจจะเข้าไปเตือนก่อน ถ้ามันยังทำอยู่ เราก็จะไปแจ้งเจ้าของสิทธิ์ แล้วก็แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดูแล หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของตำรวจกับเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของสิทธิ์ก็สามารถจะไปร้องขอต่อศาลให้ออกคำสั่งให้ ISP เอาเว็บนั้นลงหรือบล็อกเว็บนั้น
หลังจากที่มีกระแสในเฟซบุ๊ก ใช้คำว่า "ไม่น่ารักเลย" ที่เราไปคอมเม้นต์เตือนว่าอย่าละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น
"ทางกรมฯ เชื่อว่าสถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเด็กสมัยใหม่ มีการพูดถึงเว็บที่ซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องเยอะขึ้นมาก เพราะค่าใช้จ่ายต่ำ หลังจากนี้เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึก ที่จะไม่ละเมิดก็เป็นสิ่งสำคัญ ท่านนายกฯ เองก็บอกเลยว่าจะเร่ง เน้นปราบปราม ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด มันอยู่ที่ต้องสร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้คนมากกว่า ท่านได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาฯ ช่วยดูด้วยว่าสามารถจะเอาเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปสอดแทรกในการเรียนการสอนได้ไหมตั้งแต่เด็กๆ เลย แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เด็กเราเรียนศิลปะ เรียนประดิษฐ์อะไรทั้งหลาย วาดรูปเสร็จก็บอกให้ นร.เซ็นชื่อไว้ งานชิ้นนี้เป็นลิขสิทธิ์ของหนู ถ้าเราทำแบบนั้นตั้งแต่เด็ก คนก็รู้ว่าลิขสิทธิ์คืออะไร ขณะนี้คนยังไม่รู้เลยว่าอันไหนลิขสิทธิ์ อันไหนเครื่องหมายการค้า เพราะไม่เคยมีใครบอกเราไง"
เผยเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ มีกว่า 180 เว็บไซต์
ทีมข่าว ถามอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ทราบหรือไม่ ว่าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มีรายได้จากทางใด นางนันทวัลย์ ตอบว่า "ไม่ทราบ" เมื่อถามต่อว่าเว็บเหล่านี้มีโฆษณาด้วย ซึ่งก็มีบริษัทดังๆ รวมอยู่ นางนันทวัลย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานน่าจะมีข้อมูล เพราะเขาบอกได้ว่ามีประมาณ 180 เว็บ
ทีมข่าวฯ ถามประเด็นสำคัญว่า การลงโฆษณากับเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดด้วยหรือไม่ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตนยังแปลกใจเลยนะว่าเป็นบริษัทเหล่านี้โฆษณา ถ้ามันเป็นเว็บผิดกฎหมายจริง แก้ง่ายเลยแบบนี้ เชื่อว่าหากกรมฯ ทำหนังสือไปถึงหน่วยงานเหล่านี้ปุ๊บ เขาก็จะไม่ลงโฆษณา
สื่อดิจิตอลบูม นายกฯโฆษณาดิจิทัลชี้ เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับโฆษณา!
ขณะเดียวกัน นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าปัจจุบันพื้นที่สื่อโฆษณากำลังมาแรงตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมี 3G เข้ามา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสื่อดิจิตอลพัฒนามากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคใช้สื่อออนไลน์ทางมือถือเฉลี่ย 4.5 ชั่วโมงต่อวัน และจะมากขึ้นอีก ส่วนการรับชมทางทีวีก็น้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการต่างหันมาขายของทางสื่อออนไลน์ โดยเน้นให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในงบประมาณที่คุ้มค่า อีกทั้งช่องทางอินเทอร์เน็ตใช้งบประมาณน้อยกว่าพื้นที่ทางทีวี และมีพื้นที่หลากหลายมากกว่า
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย
ในการลงโฆษณาในเว็บไซต์หนังออนไลน์นั้น นายศิวัตรกล่าวว่า “ทำได้เป็นปกติ” หากเนื้อหาในเว็บไซต์นั้นสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของโฆษณา แต่ถ้าในเว็บไซต์นั้นเป็นหนังละเมิดลิขสิทธิ์ จะถือว่าเป็นการสนับสนุนเว็บเหล่านั้นด้วยหรือไม่นั้น นายศิวัตร กล่าวว่า "มันไม่เกี่ยวกัน ผู้ละเมิดก็คือเว็บไซต์ ไม่ใช่โฆษณา"
"ถ้าคุณไปก๊อบคอนเทนต์คนอื่นมา ผมจะรู้ได้ไงว่าคุณก๊อบหรือไม่ก๊อบ ผมก็ซื้อโฆษณาตามปกติ คงต้องแยกแยะกันก่อนว่า เว็บไซต์มีเนื้อหาเหมาะสมหรือไม่ เช่น เว็บโป๊หรืออาชญากรรม ก็จะไม่ลงโฆษณา เพราะว่ามันไม่ตรงกับประเภทสินค้า แต่ถ้าเว็บที่มีเนื้อหาที่ดีตามปกติ เนื้อหาที่ไม่ได้มีปัญหา เราจะแปลงสินค้า ส่วนเว็บนั้นไปก๊อบปี้ของเขามาหรือไม่ คนลงโฆษณาก็อาจจะไม่ทราบสมมติมีเว็บเว็บหนึ่ง ขอเชิญมาดูหนังซีรีย์ในเว็บนี้ได้ คำถามคือเรารู้ไหมว่าเว็บนี้ก๊อบมาหรือไม่...? ผมมองด้วยสายตาอย่างเป็นกลาง หากคุณเห็นว่าเว็บเว็บนึงเขาลงหนังให้ดู คุณตัดสินได้อย่างไรว่าเว็บนั้นมันถูกหรือผิดลิขสิทธิ์” นายศิวัตรกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ฟันธง โฆษณาหนุนเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ ก็มีโทษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมข่าวฯ ถามเรื่องนี้ไปยัง อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ได้ตอบชัดเจนว่า "ผู้ลงโฆษณา มีโทษเช่นกัน"
“มีความผิดครับ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือไม่มีใครดำเนินการเอาเรื่องกับบริษัทเหล่านี้เหมือนกัน ที่จริงถ้าหากบีบพวกนี้ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงเขา เขาก็อยู่ไม่ได้ เพราะเขาอยู่ได้เพราะว่าโฆษณาที่มันมีพวกนี้ครับ เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีการติดตามเรื่องนี้ ทำให้เขามีท่อน้ำเลี้ยง เหมือนเว็บลามกอนาจารก็จะมีโฆษณาเหมือนกัน”
อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์
อ.ไพบูลย์ อธิบายว่า โฆษณาในเว็บที่เป็นผู้สนับสนุนมีความผิดตามกฎหมาย โดยรับโทษหนึ่งในสามของความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วไป ซึ่งความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วไปก็จะมีตั้งแต่ปรับ 80,000 บาท 100,000 บาท 300,000 บาท หรือ จำคุก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีหน่วยงานไหนฟ้องผู้โฆษณาเหล่านั้น ซึ่งทางบริษัทต่างๆ เองก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเว็บที่ละเมิด แต่ยังคงมีการสนับสนุน
โดยวิธีการรับรายได้ เว็บพวกนี้เวลาโอนเงินก็จะโอนโดยการเปิดบริการเป็นพรีเพด หรือไปเปิดแอคเคาน์ในต่างจังหวัด โดยที่ใช้ชื่อบัตรประชาชนปลอม และก็เป็นอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ส่วนการดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมันเยอะมาก ไม่รวมกับคดีอินเทอร์เน็ตอย่างอื่นด้วย ทำให้การเช็กอะไรต่างๆ ค่อนข้างลำบาก
เจ้าทุกข์ต้องแจ้งตัดท่อน้ำเลี้ยง ระบุแก้ปัญหาช้าเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เชี่ยวชาญ
วิธีการแก้ไขปัญหาไม่ให้เว็บละเมิดฯ มีรายได้จากโฆษณาในเว็บไซต์ อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องมาแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ก่อน ถึงจะปฏิบัติตาม หากเจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบเองเลยนั้น ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีงานหรือคดีเยอะ ดังนั้นต้องมีผู้เสียหายหรือผู้แจ้งความก่อน เจ้าหน้าที่ถึงจะไปดำเนินการ เหมือนมีคนลักทรัพย์ ปกติมันก็ผิดกฎหมายอยู่ แต่ต้องมีคนแจ้งก่อน เจ้าหน้าที่ถึงเข้าไปตรวจสอบ
หากบริษัทที่มีชื่อเสียงไปลงโฆษณาตามเว็บเหล่านั้น ก็สามารถตรวจสอบได้ เอาผิดได้ โดยการลงโฆษณามี 2 สาเหตุคือ 1.ตัวบริษัทเหล่านั้นลงโฆษณาเอง ซึ่งในลักษณะนี้มีน้อย 2.คือบริษัทเหล่านั้นอาจจะเหมาจ่ายกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณา แล้วเอเจนซี่เป็นคนไปลง ก็แล้วแต่ว่าตัวเจ้าของโฆษณารู้หรือไม่ ถ้าเจ้าของโฆษณารู้ แต่ไปลง ก็ถือว่าผิดกฎหมาย
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ดูแล โดยหลักปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับเรื่องโฆษณาเลยไม่ได้ ต้องมีเจ้าทุกข์แจ้งก่อน แต่ถ้าแจ้งแล้วไม่มีผลกลับมาก็ผิดกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ระบุโทษไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าถามเด็กสมัยนี้ว่าดูหนังฟรีได้ตรงไหน เด็กจะตอบได้ ซึ่งก็จะมีทั้งฟรีแบบถูกกฎหมาย หรือฟรีแบบไม่ถูกกฎหมาย
ส่วนปัญหาการแก้ไขการละเมิดลิขสิทธิ์หนังออนไลน์ยังคงซ้ำซาก อ.ไพบูลย์ เล่าจากประสบการณ์ว่า ปัจจุบันเจ้าของลิขสิทธิ์หนังต้องปกป้องสิทธิ์กันเอง ทำให้เกิดความยุ่งเหยิง ล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาเป็นเคสบายเคส และแจงสาเหตุที่ทำให้การควบคุมเว็บไซต์เป็นไปอย่างลำบาก คือ
1. ประสิทธิภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในแง่การสืบสวนสอบสวนลิขสิทธิ์ออนไลน์ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย หรือเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญก็มีจำนวนน้อยเช่นเดียวกัน
2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ หรือพวกเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามผู้กระทำความผิดในอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีน้อย ถ้าเทียบกับต่างประเทศ
3. การได้รับความร่วมมือจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่เก็บข้อมูล มีค่อนข้างน้อย ทำให้การเตรียมคดีค่อนข้างยุ่งยาก และศาลเคร่งครัดกับพยานหลักฐาน ทำให้พยานหลักฐานที่ได้มามีน้อยอยู่แล้ว ทำให้โอกาสที่ศาลจะมีคำสั่งปิดบล็อกเว็บไซต์เกิดขึ้นได้ยาก
ส่วนผู้ให้บริการ ISP (Internet Service Provider) จากเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลืออย่างสมัครใจ ตอนนี้ทุกคนไม่ทำให้ ต้องรอคำสั่งศาล เพราะถ้ามีคำสั่งศาลมาแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดว่า ผู้ให้บริการ ISP จะหลุดพ้นการรับผิดทางกฎหมายโดยสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน โทษทางกฎหมายการละเมิดลิขสิทธิ์ จากพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ระบุโทษไว้ว่า หากผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดต่องานของผู้สร้างสรรค์ ทั้งทำซ้ำ ดัดแปลงงาน เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับความยินยอมตามกฎหมาย ต้องมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หากทำเพื่อการค้า ผู้กระทำจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเคยโดนลงโทษฐานความผิดละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว ยังกระทำความผิดเดียวกันอีกภายใน 5 ปี จะถูกลงโทษหนักเป็นสองเท่าของโทษที่พิจารณาคดีในเวลานั้น ฐานไม่เข็ดหลาบอีกด้วย
การลงโฆษณาในเว็บไซต์หนังออนไลน์นั้น “ทำได้เป็นปกติ” หากเนื้อหาในเว็บไซต์นั้นสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของโฆษณา
แนะรัฐเร่งแก้ไข อย่าปล่อยให้ยืดเยื้อ
อ.ไพบูลย์ เสนอความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ อย่างแรก ต้องแก้ไขที่ตัวกฎหมาย เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันมีปัญหาในการบังคับใช้ สองคือ แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสามารถให้อำนาจตำรวจหรือศาลเพื่อยึดพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ที่ผ่านมาแก้เพียง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ใส่ความผิดฐานลิขสิทธิ์เข้าไป ซึ่งมันไม่ได้ช่วย ถ้าแก้ที่กฎหมายอาญาฯ หน่วยงานที่บังคับใช้ทั้ง ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ หรือคนที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้กับคดีทุกๆ ประเภทที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยี แต่ที่ผ่านมารัฐฯ มองว่าแก้กฎหมายอาญามันช้า จึงเอาความผิดอะไรต่างๆ ไปใส่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ปัญหาอีกอย่างคือ หน่วยงานที่สืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยีมีจำนวนค่อนข้างน้อยมาก กำลังคนกับผู้เชี่ยวชาญไม่พอ อีกทั้ง อัยการ ศาล หรือตำรวจ ก็ต้องมีหน่วยงานพิเศษที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เพราะการสืบสวนสอบสวนไม่เหมือนกรณีคดีปกติ สุดท้ายคือ ตั้งแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมา ระบุว่าเวลาใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ISP หรือโมบายจะต้องมีการเก็บข้อมูลว่า ผู้ใช้งานท่องเว็บไหนบ้าง แต่ทางปฏิบัติไม่มีการเก็บข้อมูล หากไม่เก็บ เมื่อตำรวจสืบสวนสอบสวนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งๆ ที่กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 26 บอกว่าถ้าไม่มีการเก็บข้อมูล มีโทษปรับ 500,000 บาท แต่ตั้งแต่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 50 ถึงปัจจุบัน กระทรวง ICT หรือศาล ไม่เคยปรับ 500,000 บาท กับผู้ประกอบการรายใดเลย
อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลของปี พ.ศ. 2558-2559 พบ งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลปี พ.ศ. 2558 มีมูลค่ารวมกว่า 8,084 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 32% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 23% ในปี 2559 โดยคาดการณ์มูลค่าราว 9,927 ล้านบาท
อืม!!ดูหนังออนไลน์-ซีรีส์เถื่อน EP.2 เสือกระดาษปราบลิขสิทธิ์ ชี้ชัดโฆษณาหนุนผิดไหม!? อืม!!ดูหนังออนไลน์-ซีรีส์เถื่อน EP.2 เสือกระดาษปราบลิขสิทธิ์ ชี้ชัดโฆษณาหนุนผิดไหม!? Reviewed by Darastation on เมษายน 06, 2559 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น