คิดดีหรือยัง คิดติดแก๊สต้องรู้! เจาะปมชนบึม ไฟลุกท่วม รถติด LPG เสี่ยงทุกคันจริงหรือ?




สืบเนื่องจากกรณีรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด จนเป็นเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้คลอกผู้โดยสารในรถฟอร์ดเสียชีวิตนั้น หากนึกย้อนกลับไปถึงข่าวการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นข่าวรถยนต์เกิดไฟลุกไหม้ จนทำให้หลายคนที่กำลังคิดจะติดแก๊ส ค่อนข้างวิตกกังวลอยู่ในใจว่า “จะปลอดภัยหรือไม่ จะระเบิดหรือเปล่า...?
ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต้องหยิบยกประเด็นเรื่องความปลอดภัยของการติดตั้งแก๊สขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้รถติดแก๊สได้ทำความเข้าใจไว้เป็นกรณีศึกษาว่า อะไรบ้างที่ผู้ใช้แก๊สต้องรู้? และจะมีวิธีหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร? 
กรณีรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด จนเป็นเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้ คลอกผู้โดยสารในรถฟอร์ดเสียชีวิต
"วอดทั้งคัน" รถแท็กซี่มิเตอร์โตโยต้า รุ่นอัลติส กลายเป็นซาก หลังถูกไฟไหม้เสียหายทั้งคัน เนื่องจากแก๊สแอลพีจีระเบิด เพราะชนกับรถกระบะบนถนนมอเตอร์เวย์
รถติดแก๊สประสบอุบัติเหตุทีไร เกิดไฟลุกไหม้แทบทุกครั้ง สาเหตุ...!?  
นายธานี สืบฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงสาเหตุการเกิดไฟลุกท่วม กรณีเบนซ์ชนฟอร์ดให้ฟังว่า สาเหตุของการเกิดไฟลุกไหม้โดยส่วนใหญ่นั้น เกิดจาก 3 องค์ประกอบใหญ่ๆ คือ 1. ตัวเชื้อเพลิง 2. ประกายไฟ และ 3. ออกซิเจนหรืออากาศ ที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการติดไฟได้เร็วขึ้น ซึ่งจากกรณีของรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด จนเกิดไฟลุกท่วมนั้น กรณีดังกล่าว เกิดจากความรุนแรงของการชน เนื่องจากรถเบนซ์ที่ชนค่อนข้างใช้ความเร็วที่สูงมาก ประกอบกับรถฟอร์ดมีลักษณะท้ายสั้น ฉะนั้นเมื่อเกิดการชนจึงสามารถถึงตัวถังแก๊สได้ง่าย และเป็นสาเหตุให้ถังเชื้อเพลิงหรือท่อแก๊สแตก จนเกิดการรั่วไหลออกมานอกตัวรถอย่างรวดเร็ว กระทั่งเกิดการลุกไหม้ขึ้น 
“โดยแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันก็ตาม การชนในลักษณะที่รุนแรงนั้น ก็เป็นสาเหตุให้ถังเชื้อเพลิงเกิดการแตกได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่ารถฟอร์ดจะเป็นรถที่ใช้น้ำมัน การถูกชนในลักษณะที่รุนแรงเช่นนี้ก็มีโอกาสทำให้ถังเชื้อเพลิงเกิดการแตก จนเกิดเพลิงลุกไหม้ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือแก๊ส มีคุณสมบัติในการติดไฟสูงและเร็วมาก”
นายธานี สืบฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
รถที่ติดแก๊ส เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีโอกาสเกิดเพลิงลุกไหม้ ทุกคันหรือไม่!?
สำหรับรถติดแก๊ส ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส LPG หรือ NGV ก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีโอกาสที่จะเกิดไฟลุกไหม้ทุกคันหรือไม่? นายธานี ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า รถที่ติดแก๊ส ไม่ว่าจะเป็นแก๊สชนิดใดก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงให้ไฟลุกไหม้ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เนื่องจากคุณสมบัติของแก๊สจะมีความไวต่อการติดไฟได้ง่าย และรวดเร็ว ฉะนั้น เมื่อไรที่เชื้อเพลิงมีการรั่วไหล โอกาสเกิดการลุกไหม้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด
ความต่างระหว่างแก๊ส LPG กับ NGV ชนิดไหนเสี่ยงติดไฟง่ายกว่ากัน?
แต่ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแก๊ส LPG กับ NGV ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน เนื่องจากแก๊ส LPG (แก๊สปิโตรเลียมเหลว) จะมีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ เพราะฉะนั้นเมื่อแก๊สเกิดการรั่วไหล จะกระจายตัวลงสู่ข้างล่าง และหากปริมาณความเข้มข้นของแก๊สมากพอ ก็พร้อมที่จะติดไฟได้ตลอดเวลา ขณะที่แก๊ส NGV มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศมาก ซึ่งเมื่อแก๊สเกิดการรั่วไหล จะกระจายตัวและลอยตัวสู่อากาศอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แก๊ส LPG จึงมีความเสี่ยงต่อการติดไฟง่ายและรวดเร็วกว่าแก๊ส NGV 
คุณสมบัติของเชื้อเพลิง
รถใช้น้ำมัน VS แก๊ส ชนิดไหนติดแล้ว เสี่ยงไฟลุกท่วมกว่ากัน?
สำหรับความเสี่ยงต่อการเกิดไฟลุกไหม้ระหว่าง น้ำมัน กับ แก๊ส นั้น ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า แก๊ส ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดไฟง่ายกว่าน้ำมัน เนื่องจากเมื่อไรที่ถูกชนอย่างรุนแรง จนถังเชื้อเพลิงแตกและเกิดการรั่วไหล แก๊สจะกระจายตัวไปทั่วพื้นที่อย่างรวดเร็วกว่าน้ำมัน ขณะที่น้ำมันเมื่อเกิดการรั่วไหล จะลงสู่พื้นดิน แต่ไม่กระจายตัวขึ้นอากาศ ดังนั้น ปริมาณการรั่วไหลของแก๊ส จึงเป็นอันตรายกว่าการรั่วของน้ำมัน
นอกจากนี้ แก๊ส ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ฉะนั้น เมื่อเกิดการรั่วไหลขึ้น จะยากต่อการรับรู้ แต่สิ่งที่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกการรั่วไหลของแก๊สได้ก็คือ "กลิ่น" ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องรู้ทันทีว่า เมื่อเริ่มได้กลิ่นเหม็น หรือที่เรียกกันว่า "กลิ่นแก๊สไข่เน่า" นั่นหมายถึงแก๊สรั่ว ผู้ใช้รถจะต้องมีการป้องกันโดยการเปิดประตูและกระโปรงท้ายรถที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิง เพื่อให้แก๊สระบายออกโดยธรรมชาติ และต้องไม่ให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด
เก๋งติดแก๊สไฟลุกท่วม คลอกผู้โดยสารในรถเสียชีวิต
รถท้ายสั้นติดแก๊ส เมื่อเกิดการชน โอกาสที่ถังเชื้อเพลิงแตกมีสูง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า โดยลักษณะของรถทั่วไปได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความปลอดภัยจากการชนไว้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำรถมาติดตั้งแก๊สในภายหลังมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ถือว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ถังเชื้อเพลิงเกิดการแตกง่ายขึ้นหรือไม่? ได้รับคำตอบจากนายธานีว่า สำหรับตัวโครงสร้างของรถ ได้มีการถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความปลอดภัยจากการรับแรงกระแทก และแรงชนในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งถ้าลักษณะการชนไม่รุนแรงมาก โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อการลุกไหม้ก็จะน้อย 
แต่ทั้งนี้ จึงต้องมีการกำหนดการติดตั้งถังเชื้อเพลิงไว้ เพื่อรองรับความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การติดตั้งถังเชื้อเพลิงในส่วนท้ายรถ จะต้องมีระยะห่างจากกันชนไม่น้อยกว่า 20 ซม. หรือหากติดตั้งไว้ส่วนของใต้ท้องรถ ก็จะต้องมีระยะห่างจากฐานส่วนกลางถึงกึ่งกลางเพลาท้าย ไม่น้อยกว่า 1/6 
กรณีเบนซ์ชนฟอร์ด ที่พุ่งมาด้วยความเร็ว ชนรถฟอร์ดติดแก๊ส เกิดเพลิงลุกไหม้ คลอกผู้โดยสารในรถเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกติดตั้งถังเชื้อเพลิงไว้ตำแหน่งใดของรถ ส่วนของท้ายรถหรือใต้ท้องรถ ความปลอดภัยก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากเกิดเป็นประกายไฟได้ ขึ้นอยู่กับการแตกของถังเชื้อเพลิงและการรั่วไหลของแก๊ส แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันรถโดยส่วนมากนิยมติดไว้ส่วนของท้ายรถ ประกอบกับรถที่มีลักษณะท้ายสั้น ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสชนไปถึงถังเชื้อเพลิงแตกมีสูง 
แม้ไม่ชนถังแก๊ส รถก็เกิดไฟลุกไหม้ได้ หากตำแหน่งนั้นเกิดการรั่วไหลของแก๊ส
สำหรับกรณีของรถเบนซ์รถฟอร์ด จนเป็นเหตุให้ไฟลุกท่วมนั้น กรณีนี้หากรถฟอร์ดโดนชนตำแหน่งอื่น ซึ่งไม่ใช่ส่วนของท้ายรถ ถามว่ามีโอกาสเกิดไฟลุกท่วมหรือไม่? คำตอบคือ "หากการปะทะหรือแรงชนไม่ได้โดนตำแหน่งถังเชื้อเพลิงจนเกิดการแตก โอกาสที่จะเกิดไฟลุกท่วมก็ค่อนข้างยาก แต่มิใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดกรณีไฟลุกท่วมจากการชนตำแหน่งอื่น ซึ่งไม่ใช่ถังเชื้อเพลิงมาแล้ว หรือแม้กระทั่งรถที่ไม่ติดแก๊ส แต่เกิดไฟลุกท่วมอันเนื่องมาจากรถติดแก๊สมาชน เพราะฉะนั้นการติดไฟหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิงอยู่ ณ ตำแหน่งใด เพราะการรั่วไหลลุกเป็นประกายไฟขึ้นเมื่อไร ไฟจะสามารถกระจายไปทั่วพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว”
รถตู้โดยสารติดแก๊ส พุ่งเสยรถเทรลเลอร์ 6 ล้อ จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกไหม้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรถที่ติดตั้งแก๊สในประเทศไทยค่อนข้างมีจำนวนมากถึง 1,663,234 คัน แยกเป็น รถที่ติดตั้งแก๊ส LPG จำนวน 1,247,207 คัน และ เป็นรถที่ติดตั้งแก๊ส NGV จำนวน 416,027 คัน เพราะฉะนั้น รถทุกคันที่ผ่านการจดทะเบียนการติดตั้งถังเชื้อเพลิงจากกรมการขนส่งทางบก นั่นหมายถึงว่า ผ่านระบบการตรวจสภาพการติดตั้งถังเชื้อเพลิง โดยผู้ทดสอบที่เป็นวิศวกรตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งจะถือว่ามีความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล
คิดจะติดแก๊ส อะไรบ้างที่ผู้ใช้รถควรรู้...?
ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่คิดจะติดแก๊ส นายธานี กล่าวถึงการขออนุญาตติดตั้งถังเชื้อเพลิงว่า ผู้ใช้รถจะต้องนำรถไปติดตั้งยังร้านที่มีเครื่องหมายการได้รับอนุญาตการเป็นผู้ติดตั้งแก๊ส LPG และ CNG ตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ซึ่งผู้ติดตั้งเหล่านี้จะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ และผ่านการอบรมทดสอบในเรื่องความปลอดภัยของการติดตั้งแก๊สจากกรมการขนส่งทางบกมาแล้ว เพราะฉะนั้น ขั้นตอนการติดตั้งถังเชื้อเพลิงจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการติดตั้งที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
เครื่องหมายแสดงสถานที่ติดตั้งที่ได้รับความเห็นชอบ
หลังจากติดตั้งถังเชื้อเพลิงเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำรถไปตรวจสอบสภาพการติดตั้งแก๊สจากผู้ตรวจสอบ โดยวิศวกรที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบตรวจอีกครั้งว่ามีการติดตั้งถูกต้องหรือไม่ ระบบการทำงานสมบูรณ์หรือไม่ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งไปนั้น ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงจะสามารถนำรถมาแจ้งที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อขอเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิง โดยในขั้นตอนนี้ ก่อนจะมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทางกรมการขนส่งทางบกจะมีช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า หมายเลขถังและเครื่องอุปกรณ์ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนและปลอดภัย จึงจะดำเนินการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงให้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น หากผู้ใช้รถติดตั้งแก๊สมีการดำเนินการติดตั้งตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ ถือว่าการติดตั้งมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
เครื่องหมายแสดงสถานที่ตรวจและทดสอบ ที่ได้รับความเห็นชอบ
เมื่อการติดตั้งถังเชื้อเพลิงเป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้ว สำหรับการตรวจและทดสอบซ้ำ ตามระยะเวลาการใช้งานนั้น รถที่ติดตั้งแก๊ส LPG จะต้องมีการตรวจสอบสภาพแก๊สทุกๆ 5 ปี หลักจากการติดตั้งครั้งแรก หรือเมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์ หรือส่วนควบ โดยผู้ตรวจทดสอบการติดตั้งที่ได้รับการเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ตรวจสอบการติดตั้ง และการรั่วของแก๊ส ส่วนกรณีที่ถังมีอายุการใช้งานครบ 10 ปี นับจากเดือนและปีที่ทดสอบครั้งแรกจากการผลิตถัง และครั้งต่อไปทุกๆ 5 ปี จะทำการทดสอบถังด้วยความดันไฮโดรลิกขยายตัว การตรวจพินิจสภาพถังโดยทั่วไป และการตรวจสอบมวลถัง โดยผู้ตรวจทดสอบถัง ที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก

สำหรับรถที่ติดตั้งแก๊ส NGV มีการติดตั้งถังภายหลังจากการผลิตรถ ต้องตรวจสอบทุกๆ 1 ปี หลังจากการติดตั้งถังครั้งแรก หรือเมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบ โดยผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ตรวจสอบการติดตั้ง และตรวจสอบการรั่วของแก๊ส

“ดังนั้น สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของรถที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิงหรือแก๊ส การตรวจสอบสภาพตามระยะเวลาที่กำหนด หรือได้รับการตรวจสภาพบ่อยครั้ง ความปลอดภัยก็ย่อมมากขึ้น เนื่องจากเมื่อแก๊สมีการใช้งานไปนานๆ ระบบท่อหรือข้อต่อต่างๆ มีการสั่นสะเทือน หลวมและหลุดได้ ซึ่งอาจกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของแก๊ส กระทั่งเกิดไฟลุกไหม้ได้ ฉะนั้นอันตรายจะเกิดกับผู้ใช้รถเอง”
ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
ติดแก๊สร้านเถื่อน เปลี่ยนเชื้อเพลิงไม่แจ้งกรมการขนส่งทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นายธานี เผยอีกว่า ปัจจุบันก็ยังมีผู้ใช้รถที่มีการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงโดยไม่แจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก เนื่องจากมีการติดตั้งถังเชื้อเพลิงไม่ถูกต้องตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ ทั้งขั้นตอนและวิธีการติดตั้ง หรือติดตั้งกับผู้ที่ไม่ได้มาจากกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้ ผู้ใช้รถอาจได้รับความเสี่ยงอันตรายจากการใช้แก๊ส และมีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 หรือ 14 กรณีการเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อเพลิง โดยไม่แจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงต่อนายทะเบียน มีโทษปรับตามมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 
แก๊สรั่วต้องทำอย่างไร? เช็กวิธีหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ก่อนไฟไหม้รถ
นายธานี เผยถึงวิธีการหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์เกิดไฟลุกไหม้จากรถติดตั้งแก๊สว่า ในกรณีที่แก๊สเกิดการรั่วไหลในระหว่างขับรถ จนเกิดเป็นประกายไฟ สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้รถจะต้องมีสติให้เร็วที่สุด และให้รีบเปิดประตูทุกด้าน พร้อมเอาตัวเองออกมาให้เร็วที่สุด หรือหากเกิดไฟลุกไหม้จากห้องเครื่องรถ ให้รีบดึงฝากระโปรงขึ้น เพื่อให้มีช่องในการฉีดถังดับเพลิงเข้าไปช่วยดับไฟได้ทัน 
อย่างไรก็ตาม เมื่อไรที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้น แน่นอนว่าการหนีเอาตัวรอดออกจากสถานการณ์การเกิดไฟลุกไหม้ก็จะค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากว่าในหลายกรณีที่เกิดขึ้นจนคลอกผู้โดยสารในรถเสียชีวิตนั้น อันเนื่องมาจากผู้โดยสารภายในรถมักจะได้รับแรงกระแทกจากการชนที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนัก จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือแม้แต่หมดสติไป เพราะฉะนั้นการหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ก็ค่อนข้างยากลำบาก จนกลายเป็นเหตุสลดขึ้น.  
สภาพรถเก๋งออดี้ รุ่น A100 เกิดไฟลุกไหม้ในห้องเครื่องรถ คาด สาเหตุเกิดจากเพิ่งนำรถไปติดแก๊สแอลพีจี
คิดดีหรือยัง คิดติดแก๊สต้องรู้! เจาะปมชนบึม ไฟลุกท่วม รถติด LPG เสี่ยงทุกคันจริงหรือ? คิดดีหรือยัง คิดติดแก๊สต้องรู้! เจาะปมชนบึม ไฟลุกท่วม รถติด LPG เสี่ยงทุกคันจริงหรือ? Reviewed by Darastation on เมษายน 02, 2559 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น