ความคืบหน้า เจาะวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ โกอินเตอร์ขายแรงงาน โกยเงินเข้าประเทศ



ภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ได้สร้างข้อได้เปรียบในหลายด้าน และจากกรณีประชากรในประเทศฟิลิปปินส์หนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้เป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศเคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก จึงเป็นโอกาสในการประกอบอาชีพ ทำงานยังต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีเม็ดเงินไม่น้อย ได้ส่งกลับมาให้คนในครอบครัวและเครือญาติ เพื่อใช้จ่าย จนเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในประเทศฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการลงทุนมากมาย และพัฒนาประเทศ เรียกได้ว่า หลายๆ มันสมองที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ ได้สร้างรายได้จากเม็ดเงินที่โอนเข้าฟิลิปปินส์สูงเป็นอันดับหนึ่งของรายได้จากการขายสินค้าบริการ
ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนฟิลิปปินส์ต้องออกมาขายแรงงานในต่างประเทศ มาจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีมายาวนาน ก่อให้เกิดการว่างงานในอัตราสูง หากเทียบกับประชากรที่มีมากแตะกว่า 100 ล้านคน แน่นอนต้องมีการแข่งขันสูง กว่าจะได้งานทำ ประกอบกับค่าครองชีพในประเทศฟิลิปปินส์ค่อนข้างสูง ทำให้รายจ่ายมากกว่ารายรับ นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนในสมัยประธานาธิบดี คอราซอน อาคิโน ในช่วงปี 2540 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เป็นเหตุผลให้คนฟิลิปปินส์ตัดสินใจมาทำงานในต่างประเทศ จนกลายเป็นวัฒนธรรม ทั้งจากการชักชวนของคนรู้จักและเพื่อนฝูงที่ออกไปทำงานต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว จนเห็นลู่ทางแนะนำเพื่อนฝูง คนรู้จัก
ขณะที่ ผศ.ดร.กมลพร สอนศรี หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัยโครงการ ASEAN WATCH ของ สกว. ซึ่งมองว่าการออกไปทำงานต่างประเทศของคนฟิลิปปินส์ เป็นวัฒนธรรม ก็เนื่องจากประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์ มีการส่งแรงงานทำงานต่างประเทศทางทะเล ตั้งแต่ตกเป็นอาณานิคมของสเปน ก่อนที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาครอบครอง จากนั้นได้มีการส่งแรงงานต่างประเทศทางบกอย่างต่อเนื่องเป็นต้นมา
กระทั่งสมัยประธานาธิบดี เฟอร์ดินัน มาร์กอส ได้เกิดวิกฤติน้ำมัน ยิ่งทำให้แรงงานฟิลิปปินส์ออกไปทำงานนอกประเทศมากขึ้น อีกทั้งทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีนโยบายส่งเสริมแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ในการออกกฎระเบียบรับรองคนไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งการตั้งกองทุน คณะทำงานต่างๆ หรือเปิดบริการช่วยเหลือ เพื่อเอื้อต่อการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากหลายนโยบายจากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ยกตัวอย่างสมัยประธานาธิบดี คอราซอน อาคิโน มีการตั้งสำนักงานบริหารแรงงานฟิลิปปินส์ไปต่างประเทศ ในระดับภูมิภาค มีคณะทำงานด้านการตลาดเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานชาวฟิลิปปินส์มากขึ้น เช่นเดียวกับสมัยประธานาธิบดี เบนิกโญ่ อากิโน่ เปิดให้บริการทำงานต่างประเทศแบบชั่วคราว มีการส่งเสริมความสามารถของแรงงาน รวมถึงให้บริการทางจิตวิทยา ประสานกับกลุ่มเอ็นจีโอ เพื่อให้ความช่วยเหลือ
“การส่งเสริมของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ทำให้แรงงานของประเทศจะออกไปทำงานที่ไหนก็ได้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรม เมื่อเด็กฟิลิปปินส์ โตขึ้นมา ก็อยากทำงานในต่างประเทศ มีรายได้จากเม็ดเงินที่โอนเข้าสู่ประเทศมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนการมาทำงานในเมืองไทยก็เพราะวัฒนธรรมของคนไทยกับคนฟิลิปปินส์นั้นคล้ายๆ กัน อีกอย่างเงินเดือนที่หาได้ในเมืองไทย สามารถใช้จ่ายได้อย่างสบาย ได้เงินเดือน 3 หมื่นบาท ก็อยู่ได้ไม่ลำบาก มีเงินส่งกลับประเทศ เพราะถ้าอยู่ฟิลิปปินส์ ไหนจะเงินเดือนน้อย เจอค่าครองชีพสูง สู้ทำงานในไทยจะดีกว่า”
ในส่วนอาชีพหลักๆ ซึ่งแรงงานของฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในไทย พบว่า มาทำอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นลำดับต้นๆ ซึ่งไม่กระทบต่อการแย่งอาชีพคนไทย อีกทั้งบุคลิกคนฟิลิปปินส์เป็นคนร่าเริง ชอบสนุกสนาน ทำให้เด็กไทยชอบเรียนกับครูฟิลิปปินส์ ซึ่งต่างกับครูสอนภาษาอังกฤษชาวตะวันตก ส่วนอาชีพรองลงมาเป็น ผู้จัดการ วิศวกร ในบริษัทเอกชน
สำหรับแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 1 หมื่นกว่าคน อีกส่วนหนึ่งมาในรูปแบบนักท่องเที่ยว จากเพื่อนฝูงที่ทำงานในไทยแนะนำมา ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายของฟิลิปปินส์ แต่เมื่อได้ทำงานในไทยได้ระยะหนึ่ง จะกลับประเทศเพื่อทำเอกสารการจ้างงาน หรือ Exit Clearance เพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นแรงงานทำงานต่างประเทศแบบชั่วคราว ทำให้ไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าคนฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานสอนภาษาในไทย มีความสุข หลายคนไม่คิดอยากจะกลับประเทศ หรือบางคนอยู่ไทยประมาณ 10 ปี ไม่คิดจะปักหลัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสวัสดิการของสถาบันการศึกษา ส่วนการมาเป็นครูสอนภาษา มีขั้นตอนตามมาตรฐาน ต้องจบปริญญาตรีด้านครู มีการไปสอบกับกระทรวงศึกษาธิการของไทย ซึ่งต้องมีความรู้ด้านวัฒนธรรมของไทยด้วย เพื่อเอาใบประกาศ ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตั้งสถาบันภาษาขึ้นมา เหมือนเป็นศูนย์กลางผลิตครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ ป้อนให้แต่ละสถาบันการศึกษาในไทย 

ขณะเดียวกันได้มีองค์กรเอ็นจีโอ สมาคมต่างๆ ในฟิลิปปินส์เข้ามาให้ความช่วยเหลือแรงงานฟิลิปปินส์ในไทย อาทิ ใน จ.เชียงใหม่ หรือกรณีคนฟิลิปปินส์มีปัญหา ส่วนใหญ่จะติดต่อสถานทูตเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนย่านที่คนฟิลิปปินส์พักอาศัยในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สุขุมวิท สีลม หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้โบสถ์คริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าว และถือว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับสี่ของโลก
แม้แรงงานชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก ซึ่งเข้ามาทำงานในไทยอย่างมีความสุข เหมือนอยู่บ้านของตัวเอง แต่ก็ยังมีปัญหาบางประการที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน โดยมองว่ากฎหมายของไทยไม่เอื้อต่อกระบวนการออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีความล่าช้า หากเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวของไทย ทำงานค่อนข้างช้า ไม่ได้เป็นแบบ One Stop Service ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงแรงงานของไทย จะต้องดำเนินการแก้ไข จากการให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะของ ผศ.ดร.กมลพร
แรงงานไทยขุดทอง ตปท. โกยเม็ดเงินร่วมแสนล้าน
ขณะที่นโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศนั้น ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานดูแลประชาชนคนไทยให้มีรายได้ที่มั่นคงจากการทำงาน ดูแลแรงงานต่างด้าว ลดปัญหาค้ามนุษย์ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และคุ้มครองแรงงานทุกคน โดยได้เร่งรัดตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทำให้เกิดการจ้างงานกับคนไทยเพิ่มขึ้นจำนวน 224,587 คน และจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศจำนวน 45,087 คน คาดสร้างเม็ดเงินร่วมแสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่สะพัดจากแรงงานไทยทำงานต่างประเทศส่งมายังครอบครัวปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท และเงินที่เกิดจากการสร้างงานใหม่อีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และการใช้เทคโนโลยีของศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย หรือ Smart Job Center เชื่อมโยงระบบออนไลน์จัดหางานทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ
สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐบาล อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อิสราเอล และไต้หวัน เป็นต้น เพื่อช่วยให้แรงงานไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานสากล และช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนหางาน เป็นอีกข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานไทยโดยสังเขปจาก ดร.นพดล
ครูสาวตากาล็อก สอนเด็กไทยด้วยใจ และมุ่งมั่น
ในส่วนแรงงานชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งมาทำงานในไทยมากกว่า 2 ปี ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กไทย Miss Jeannette Guatlo ชาวเมืองคิบาเว บูกินนอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแมนนี่ ปาเกียว (Manny Pacquiao) นักชกชื่อดัง ระบุถึงเหตุผลในการตัดสินใจมาทำงานในไทยว่า หลังจากจบปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์ ได้เข้าทำงานในโรงงานปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งส่งขายยังต่างประเทศ กลับพบว่า เงินเดือนที่ได้มาไม่พอใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพในประเทศฟิลิปปินส์ค่อนข้างสูง จนในที่สุดตัดสินใจมาทำงานในไทย แม้เงินเดือนที่ได้จากการสอนภาษาในไทยไม่แตกต่างกับที่ได้รับในบ้านเกิด แต่ด้วยค่าครองชีพที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างสบาย โดยจัดสรรเงินเดือน 50% เพื่อใช้จ่ายส่วนตัว และอีก 50% ส่งกลับให้ครอบครัวในฟิลิปปินส์
เธอเล่าว่า ประมาณปี 2557 ได้มาท่องเที่ยวครั้งแรกในไทยกับน้องสาว หลังท่องเที่ยวประเทศสิงคโปร์ โดยรู้สึกประทับใจเมืองไทยมาก เพราะเป็นประเทศที่สวยงาม ทั้งผู้คนและวัฒนธรรม ครั้งนั้นได้ไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองพัทยา หิวหิน และอีกหลายๆ ที่ มีการชมวัดวาอาราม ยังสถานที่ต่างๆ ส่วนใน กทม.นั้น ได้เข้าพักย่านข้าวสาร ซึ่งห้องพักถูกมาก ก่อนเดินทางกลับประเทศ กระทั่งน้องสาวได้ถามว่า อยากมาทำงานในไทยหรือไม่ ซึ่งได้จุดประกายความคิดของเธอ เริ่มจากติดต่อเพื่อนชาวเกาหลีในไทย และเดินทางเข้ามาในไทยอีกครั้งในฐานะนักท่องเที่ยว พร้อมติดต่อบริษัท เอเยนซี่ เพื่อหางานทำในไทย ใช้เวลา 1-2 วัน ก็ได้งานทำเป็นครูสอนภาษาในโรงเรียน 3 แห่ง ย่านมีนบุรี ก่อนเดินทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการเรื่องเอกสารในการทำงานในไทยให้ถูกต้อง
“ครั้งแรกที่มาเป็นครูสอนภาษาในไทย ยอมรับว่าช่วง 3 เดือนแรกร้องไห้ ไม่รู้จะสอนและควบคุมเด็กในห้องเรียนชั้นประถมที่มีประมาณ 30 คนอย่างไร พวกเค้าซนมาก แต่ด้วยใจรักเด็ก จึงหาเทคนิคพยายามใช้สายตาที่กลมโตของตัวเองมองและดุเด็กให้เชื่อฟัง ไม่มีการตีเด็ก เพราะที่ฟิลิปปินส์ การตีเด็กนักเรียนถือว่าผิดกฎหมาย พยายามพูดภาษาอังกฤษช้าๆ และออกเสียงดังๆ สอนเด็ก มีการทำกิจกรรมร้องเพลงกับเด็กเพื่อสร้างความสนิทสนม แตกต่างกับครูสอนภาษาที่มาจากตะวันตก ค่อนข้างเอาแต่ใจ เมื่อสอนเสร็จจะกลับ ไม่ทำกิจกรรมกับเด็กๆ อีกอย่างพวกเขาเรียกขอเงินเดือนค่อนข้างแพง จึงเป็นอีกสาเหตุที่หลายโรงเรียนในไทยตัดสินใจจ้างครูชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งอารมณ์ดีตลอด”
ส่วนปัญหาในการทำงานในไทยนั้น คงไม่ต่างกับครูสอนภาษาจากชาติเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนโดยตรงจากโรงเรียนที่ว่าจ้าง โดยทางโรงเรียนจะจัดเงินเดือนส่งไปยังบริษัท เอเยนซี่ ก่อนส่งต่อมายังครูสอนภาษาที่ติดต่อผ่านทางเอเยนซี่เหล่านั้น ซึ่งแน่นอนมีการหักค่าคอมมิชชั่น ทำให้ไม่รู้ถึงตัวเลขเงินเดือนที่แท้จริงว่าได้เท่าไร นอกจากนั้นในช่วงปิดเทอม ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะไม่มีรายได้หรือเงินเดือนใดๆ จำเป็นต้องหางานในการรับจ้างสอนภาษาในสถาบันต่างๆ หรือสอนคนไทยแบบตัวต่อตัว คิดชั่วโมงละ 500 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพง หากเทียบกับสถาบันสอนภาษาที่แต่ละคอร์สแพงกว่ามาก
“หวังว่าในอนาคตถ้าได้งานดีๆ อาจอยู่เมืองไทยนานๆ เพราะรักเมืองไทยมาก และคิดว่าคนไทยเข้าใจสำเนียงของคนฟิลิปปินส์ที่แตกต่างจากคนตะวันตกซึ่งพูดเร็ว หากถามว่าต้องการอะไรให้รัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือแรงงานฟิลิปปินส์ในไทย ในฐานะที่พวกเราช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทยด้วยหัวใจ อยากให้ดูแลเรื่องเงินเดือนให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับครูสอนภาษาชาวตะวันตก หรือแม้แต่ช่วงปิดเทอมควรมีเงินเดือนเหมือนครูไทยทั่วไป รวมถึงอยากให้มีประกันดูแลยามเจ็บป่วย มีสวัสดิการต่างๆ เพราะทุกวันนี้ใช้เสียงมาก ตะโกนดังๆ ออกเสียงอย่างชัดเจนสอนเด็กไทยให้เข้าใจ” Miss Jeannette Guatlo กล่าวทิ้งท้าย
นับได้ว่าประเทศฟิลิปปินส์มีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกประเทศมากสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับจำนวนแรงงานออกนอกประเทศ พบว่าในปี 2548 มีจำนวน 6.9 ล้านกว่าคน กระทั่งปี 2554 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10.4 ล้านกว่าคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวทีเดียว ส่วนประเทศที่คนฟิลิปปินส์ไปทำงานมากสุดคือ ซาอุดีอาระเบีย รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ ขณะที่ข้อมูลการทำงานในไทยของชาวฟิลิปปินส์ ณ เดือน ธ.ค. 2557 พบว่า เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 1.2 หมื่นกว่าคน ถือเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว สำหรับแรงงานฝีมือชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรู้ ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในฟิลิปปินส์และไทย
คงต้องจับตามองอนาคตแรงงานฟิลิปปินส์ กับเป้าหมายศูนย์กลางการให้บริการด้านแรงงานฝีมือที่ส่งไปยังต่างประเทศ มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศฟิลิปปินส์เติบโตได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางโจทย์ท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังไม่กระเตื้อง หลายองค์กรจำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไป ทั้งปลดพนักงาน ขายต่อบริษัท หรือปิดกิจการลงไป หรือในอนาคตการส่งแรงงานของฟิลิปปินส์ไปทำงานต่างประเทศ อาจไม่ง่ายเสียแล้ว กลายเป็นแรงงานมีฝีมือที่มีมากกว่าความต้องการของตลาดแรงงานโลก แม้ปัจจุบันยังไม่เกิดปัญหา แต่เป็นสิ่งที่น่าคิด และน่าจับตาดูต่อไป.
ความคืบหน้า เจาะวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ โกอินเตอร์ขายแรงงาน โกยเงินเข้าประเทศ ความคืบหน้า เจาะวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ โกอินเตอร์ขายแรงงาน โกยเงินเข้าประเทศ Reviewed by Darastation on มีนาคม 31, 2559 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น